คณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล

คณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล ประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 3 คน โดยต้องเป็นกรรมการอิสระมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะคัดเลือกจากกรรมการบริษัท และ/หรือ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เพื่อช่วยสนับสนุนคณะกรรมการบริษัท ในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG และความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใส เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นแนวทางในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลในคราวเดียวกัน โดยคณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล มีรายนามดังต่อไปนี้

ตารางนี้สามารถเลื่อนแนวนอนได้
รายชื่อกรรมการ ตำแหน่ง
1. ดร. บุญชัย พิทักษ์ดำรงกิจ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล (กรรมการอิสระ)
2. พล.ต.อ. กวี สุภานันท์ กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล (กรรมการอิสระ)
3. นายเกรียงไกร สุริยวนากุล กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล
คณะกรรมการกำกัับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล

ด้านกำกับดูแลความยั่งยืน

  1. พิจารณาและกำหนดเป้าหมาย นโยบาย กลยุทธ์ ตลอดจนแผนดำเนินการด้านการพัฒนาความยั่งยืนที่สอดคล้องกับดำเนินธุรกิจทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
  2. กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายกลยุทธ์ แผนดำเนินการด้านการพัฒนาความยั่งยืน ผ่านคณะทำงานที่ได้รับมอบหมาย
  3. กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียในแบบ 56 - 1 One Report และรายงานการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Report)
  4. ร่วมกับคณะทำงานบริหารความเสี่ยงในการประเมินการบริหารจัดการและบรรเทาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความยั่งยืน รวมถึงการจัดทำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Maps)
  5. พิจารณา กำหนด ทบทวน และปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานสากล เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ ตลอดจนการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
  6. พิจารณา กำหนด ทบทวน และปรับปรุงนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ ตลอดจนการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ด้านบรรษัทภิบาล

  1. พิจารณา กำหนด ทบทวน และปรับปรุงนโยบายคู่มือการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณทางธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน ในลักษณะที่สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัท เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติตลอดจนการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามคู่มือการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณทางธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงานดังกล่าว
  2. พิจารณา กำหนด ทบทวน และปรับปรุงนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติตลอดจนการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าว

ด้านอื่น ๆ

  1. ปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ที่เห็นสมควร เพื่อให้การพัฒนาความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลของบริษัทฯ และบริษัทย่อยบรรลุเป้าหมายที่กำหนด หรือตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

วาระการดำรงตำแหน่ง

กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลที่คัดเลือกมาจากกรรมการบริษัทและกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งตามรอบระยะเวลาการเป็นกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะพิจารณาคัดเลือกกรรมการบริษัทกรรมการอิสระ และผู้บริหารจำนวนหนึ่งของบริษัทเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแล ความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล